จากการที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดรับสมัครนักเรียนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์ ”แก่นอีสานวัฒน์” ประจำปี 2564 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “คิดอย่างสร้างสรรค์ ทำอย่างยั่งยืน” มีทีมนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆทั่วภาคอีสานได้ส่งเทปบันทึกภาพการแสดงเพื่อให้คณะกรรมการการตัดสินการประกวดละครสร้างสรรค์ได้พิจารณาและมีทีมจากโรงเรียนต่าง ๆที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 12 ทีม และในวันนี้ 25 มิถุนายน 254 เวลา 9.30 น.ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้าร่วมการปฐมนิเทศโครงการและกิจกรรมแนะแนวทางสร้างสรรค์เพื่อการแสดงของแก่นอีสานวัฒน์ ในระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2564 และจะมีการชิงชนะเลิศในวันที่ 27 -28 สสิงหาคม 2564 ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในพิธีเปิดการปฐมนิเทศฯ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวรายงานถึงความเป็นมาของกิจกรรมครั้งนี้โดย ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “โครงการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์” ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ซึ่งในปีที่แล้ว ภาพบรรยากาศของการดำเนินงานเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน มีทั้งสาระความรู้ที่ทีมวิทยากรได้ระดมสรรพกำลังในการถ่ายทอด “เครื่องมือทางการละคร” ให้แก่ผู้อบรม รวมถึงบรรยากาศของรอบชิงชนะเลิศ ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่มีผลงานละครเวทีจากฝีมือของเยาวชนอีสาน ถูกนำเสนอให้ผู้ชมได้รับชมอย่างจุใจ ทั้งนี้ต้องขอชื่นชมเยาวชนทุกคนและคุณครูทุกท่าน ที่ให้ความสนใจและทุ่มเทในการสร้างสรรค์ผลงานละครเวทีคุณภาพดี เพื่อมอบสาระ ความรู้ และสุนทรียะที่ดีไปยังผู้ชม”
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล ได้ให้ข้อมูลว่า “สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ ยังคงดำเนินตามจุดมุ่งหมายหลักของโครงการคือ “การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการด้านศิลปะการละครและศิลปวัฒนธรรมอีสาน ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานละครเวที” ซึ่งในตลอด 3 วันต่อจากนี้ จะเป็นการจัดกิจกรรมอบรมการผลิตและสร้างสรรค์ละครเวที โดยทีมวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะการละครและศิลปวัฒนธรรมอีสาน รวมถึงการสัมผัสประสบการณ์ภาคสนามในพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับการติดเครื่องมือสำคัญที่นำกลับใช้สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานละครอย่างเต็มรูปแบบ”
สำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 12 ทีมเพื่อชิงชัยกันในรอบชิงชนะเลิศประกอบด้วย
- ทีมแก่นศิลป์ จากโรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม จังหวัดขอนแก่น ชื่อเรื่องประกวด “เสี่ยว”
- ทีมคณะธาตุพนมการละคร โรงเรียนธาตุพนม จังหวัดนครพนม ชื่อเรื่องประกวด “ใต้เงาองค์พระธาตุพนม”
- ทีมฅนญ้อ โรงเรียนอุเทนพัฒนา จังหวัดนครพนม ชื่อเรื่องประกวด “เพียงดิน”
- ทีมสกลละเบ๋อ โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จังหวัดสกลนคร ชื่อเรื่องประกวด “ครามสกลคนหกเผ่า”
- ทีมลูกหลานเมืองสกล โรงเรียนสกลพัฒนศึกษา จังหวัดสกลนคร ชื่อเรื่องประกวด “เนื้อสวรรค์”
- คนละครวังวิทย์ โรงเรียนวังสามหมอวิทยาคาร จังหวัดอุดรธานี ชื่อเรื่องประกวด “มนต์แห่งเสียงแคน”
- ทีมบ้านละครโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา ชื่อเรื่องประกวด “บัวฮุงโฮมศรัทธา”
- ทีมโรงเรียนพานพร้าว โรงเรียนพานพร้าว จังหวัดหนองคาย ชื่อเรื่องประกวด “พุธสถานตำนานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ”
- ทีม RK Drama โรงเรียนร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชื่อเรื่องประกวด “ฮอยฮักประดับดิน”
- ทีมคันคากทีม โรงเรียนยโสธรพิทยา จังหวัดยโสธร ชื่อเรื่องประกวด “หม่อนไหมลายขิต”
- ทีม ขอนแก่นวิทฯการละคร โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ชื่อเรื่องประกวด “เลือดอีสาน”
- ทีม ย.ช.พ.ตี 2 โรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ ชื่อเรื่องประกวด “มนต์รักทุ่งนา”