Open menu

 

 

          คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวหลักสูตรปรับปรุงใหม่ระดับปริญญาตรี ในชื่อ “หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (Performance Practice)” ชื่อปริญญา ศป.บ.(การแสดง) หรือ B.F.A. (Performance Practice) ถือเป็น หลักสูตรทางด้านศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรแรกของประเทศไทย และสาขาการแสดงสาขาแรกในประเทศไทยที่พร้อมในการปรับการเรียนการสอนเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) 

          โดยเน้นการเรียนรู้ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based learning) เป็นเป้าหมายของการศึกษา เน้นการพัฒนาและประเมินสมรรถนะ (Competency) ของผู้เรียน เปลี่ยนมาใช้ระบบชุดวิชา (Modules) ปรับเปลี่ยนบทบาทของ “อาจารย์” เป็น “โค้ช (Coach)” เน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง (Experiential-based Learning) เน้นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนารายบุคคล (Personalized Learning) การส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential learning) ผ่านโครงงาน (Project-based learning) และกลวิธีการสอนแบบที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based instruction) และ การใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Instruction) และการบูรณาการเรียนรู้ผ่านพื้นที่/สถานประกอบการ (Work-integrated learning) และการสร้างหลักสูตรใหม่ตามความต้องการของสังคมผ่านการจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ และการเรียนรู้จากพื้นที่จริงจากสถานประกอบการและชุมชน รวมถึงพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

          ในการปรับปรุงหลักสูตรจากเดิมคือหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดง มาเป็นหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) ในครั้งนี้คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรได้พิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2570) ตลอดจนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัลเป็นหลักสำคัญ จึงได้หันกลับมามองเรื่อง “พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมพื้นถิ่น” เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ศูนย์กลางของภาคอีสาน และพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างงานทางศิลปะการแสดง จากฐานศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ผ่านขบวนการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)

          เพื่อพัฒนาและสร้างหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตให้กลายเป็น นักสร้างและนักปฏิบัติการทางการแสดง ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและสังคมด้วยฐานคิดและเครื่องมือทางการแสดงเพื่อก่อให้เกิดผลงานการแสดง เกิดกระบวนการคิดและกลวิธีการใหม่ ๆ ผสานกับเครื่องมือและหลักคิดทางศิลปะการละครตะวันตก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่หรือคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผลผลิตทางศิลปะการแสดงให้มีคุณภาพระดับสากล สร้างประสบการณ์และการรับรู้ศิลปะการแสดงร่วมสมัยแก่ผู้คนในวงกว้างทั้งในระดับชุมชนและนานาชาติ จนนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนอีสานและสังคมไทยผ่าน “พื้นที่ศิลปะการแสดง”

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักสูตรฯ ได้พัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcomes) ที่ครอบคลุมทักษะความรู้ ทักษะปฏิบัติ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของบัณฑิตสาขาวิชาการแสดงตามสมรรถนะของวิชาชีพทางด้านการแสดงดังนี้

          สมรรถนะหลัก

PLO1.  สมรรถนะด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling Skills: ST)

PLO2.  สมรรถนะด้านการสร้างการแสดง (Performance Making Skills: PM)

          สมรรถนะเสริม

PLO3.  สมรรถนะด้านการประยุกต์ใช้การแสดง (Applied Performance Skills: AP)

PLO4.  สมรรถนะด้านสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital Media and Technology Skills: DT) 

PLO5.  สมรรถนะด้านบริหารจัดการการแสดง (Performance Management Skills: PM)

         

          ผลผลิตของบัณฑิตภายใต้หลักสูตรนี้จึงต้องมีสมรรถนะสำคัญหลักทางด้านการแสดงได้แก่ ทำ”การแสดงดี “คิด”การแสดง...ได้  “ใช้”การแสดง...เป็น เป็นผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) เป็นนักคิดสร้างสรรค์และนักปฏิบัติการทางการแสดง (2) เป็นนักจัดการการแสดง ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหน้าหรืออยู่เบื้องหลังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการทำงานที่หลากหลายได้อย่างมืออาชีพ และ (3) เป็นนักประยุกต์ นักส่งเสริมและนักพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นผู้สร้างสรรค์และผู้ขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างมีรสนิยมบนพื้นฐานของการเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลายมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณตามหลักวิชาชีพทางการแสดงสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม

          หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร?

  1. ผู้ที่หลงใหล มีใจรัก และมีทักษะ....ด้านการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร ร้อง ลำ แรป เต้น ฟ้อน รำ พิธีกร เล่นดนตรี ฯลฯ
  2. ผู้ที่หลงใหลและชื่นชอบ....ในการเล่าเรื่อง ชอบทำการแสดง ชอบคิดการแสดง ชอบสื่อสารผ่านการแสดง ทั้งบนเวที หน้ากล้อง หรือสื่อโซเชี่ยล กล้าคิดสร้างสรรค์ รักความท้าทาย กล้าสร้างความแตกต่าง
  3. ผู้ที่หลงใหลและคลั่งไคล้...ในการทำงานเบื้องหลัง ชอบทำงานเป็นทีม เป็นนักคิดสร้างสรรค์ เป็นนักจัดการ เป็นผู้ที่คอยผลักดันให้การแสดงเบื้องหน้าประสบความสำเร็จ

          คุณสมบัติของผู้สมัคร

  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ซึ่งกำลังศึกษาในปีการศึกษา 2564
  • ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่จบก่อนปีการศึกษา 2564
  • มีผลการเรียน GPAX (รวม5เทอม) ไม่ต่ำกว่า 00

 

พร้อมเปิดรับนักศึกษาใหม่ปีแรก ในปี 2565    

รับจำนวน 30 ที่นั่ง

เปิดรับสมัครคัดเลือกในรอบ PORTFOLIO เพียงรอบเดียวเท่านั้น!

สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัคร ได้ที่ Facebook Fan page : Performance Practice KKU

 

                                                                                                                                          

     
         
       
       
     

 

                                                                  

   

ข่าวประชาสัมพันธ์

สานศิลป์ (จดหมายข่าว)