วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ณ สถานีวิทยุ FM 103 MHz มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดี พร้อมด้วย อ.ดร.สุรศักดิ์ สอนเสนา และอาจารย์ ธีรวัตร์ มิควาฬ อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษสาขาวิชาทัศนศิลป์และออกแบบนิเทศศิลป์ ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมรายการรอบรั้ว มข. ซึ่งดำเนินรายการโดยคุณเบญจมาภรณ์ มามุข เพื่อบอกเล่าถึงการคว้ารางวัลนำชื่อเสียงสู่คณะฯและมหาวิทยาลัยในเวทีการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 67 ที่ได้ประการผลออกมาเมื่อเร็วๆนี้ และได้รับรางวัลจากการส่งผลงานเข้าประกวดคือรางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 3 เหรียญทองแดงและเงินรางวัล 100,000 บาท ทั้ง 2 คน
ส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีได้เล่าถึงความสำคัญการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติว่า “ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งจากครั้งนั้นได้ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นครั้งที่ 67 โดยคงจุดหมายส่งเสริมศิลปินได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมให้มีระดับสูงถึงขั้นมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ ตลอดจนประชาชนได้มีความรู้เข้าใจและมีโอกาสชื่นชม ความงดงามของศิลปกรรมร่วมสมัย โดยในการประกวดแบ่งงานออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทจิตรกรรม / ประเภทประติมากรรม / ประเภทภาพพิมพ์และประเภทสื่อประสม โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินประกอบไปด้วยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส ศิลปินชั้นเยี่ยม นักวิชาการศิลปะและศิลปินอิสระได้คัดเลือกชิ้นงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 18 คน และ ร่วมแสดงจำนวน 64 คน ”
สำหรับผลงานของ อ.ดร.สุรศักดิ์ สอนเสนา สร้างสรรค์ผลงานภายใต้ชื่อผลงานและแนวคิดคือ
ชื่อผลงาน : “ชีวิตในธรรมชาติ (โกสุมพิสัย มหาสารคาม 2564)”
เทคนิคการสร้างสรรค์ : กระบวนการภาพพิมพ์เเกะไม้
แนวความคิด : “ผลงานศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้นี้ผมได้นำเสนอเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม (ปี 2564) รูปทรงของมนุษย์ สัตว์ที่โบยบิน พุ่มดอกหญ้าที่ปริปลิว รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่ถูกตัดโค่นบนแผ่นแม่พิมพ์จากไม้จริงขนาดใหญ่เหล่านี้ก็เพื่อเป็นการย้ำเตือนและการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติตระหนักถึงต้นไม้ใหญ่ที่ล้มหายจากไป ตระหนักถึงต้นเหตุและปลายของผลที่ได้กระทบต่อทุกชีวิต เพื่อความเข้าใจและเคารพต่อธรรมชาติเพราะมนุษย์นั้นก็คือส่วนหนึ่งในธรรมชาติ”
และผลงานที่ของอาจารย์ธีรวัตร์ มิควาฬ สร้างสรรค์ผลงานภายใต้ชื่อผลงานและแนวคิดคือ
ชื่อผลงาน : “สุนทรียะเพศทางเลือกหมายเลข 7 “ (Gender Me No.7)
เทคนิคการสร้างสรรค์ : กระบวนการภาพพิมพ์เทคนิคผสม
แนวความคิด : “ ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวในเรื่องของเพศทางเลือกที่หลากหลายแสดงออกผ่านการประกอบรวมวัตถุอุปกรณ์เครื่องใช้เครื่องประดับรอบตัวซึ่งแต่ละสิ่งอย่างมีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะที่แตกต่างกันไปรวมถึงสร้างให้เกิดมุมมองความหมายใหม่และความพิเศษเชิงสาระนามธรรมของวัตถุนั้น ๆ ที่จะสะท้อนนัยยะของวัตถุเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องเพศทางเลือกของตนเองและความงามที่ซ่อนเร้นในพื้นที่เฉพาะของข้าพเจ้า แสดงออกมาเป็นภาพวัตถุแห่งศิลปะและกายภาพของผลงานในรูปแบบแห่งภาษาของจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อเพศทางเลือกที่ได้สัมผัสรับรู้ด้วยผัสสะเมื่อพบเห็นสร้างสรรค์ตามกระบวนการทางทัศนศิลป์งานศิลปะภาพพิมพ์ ในกระบวนการภาพพิมพ์เทคนิคผสม (Mixed Technique)”