วงโปงลางสินไซโชว์งดงามอลังการชุดการประกวดดนตรีพื้นบ้านโปงลางชิงถ้วยพระราชทานในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสานรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ประจำปี ณ โคราชฮอลล์ ชั้น 5 เซนทรัลโคราช คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรางวัลประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
การประกวดวงโปงลางครั้งนี้กรมพละศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญานันทนาการด้านดนตรีวงล้างให้แพร่หลาย รวมทั้งให้เด็กและเยาวชนได้แสดงฝีมือทางด้านการแสดงดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านโปงลาง และรู้จักใช้เวลาว่าง ในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการจนเป็นวิถีชีวิต
วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีก 1 วงโปงลางที่ส่งทีมเข้าร่วมประกวดและป้องกันแชมป์ซึ่งปีที่ผ่านมาวงโปงลางสินไซก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ และสำหรับปีนี้ก็สามารถชนะใจคณะกรรมการผู้ตัดสินได้อีกครั้ง สามารถคว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาครองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมรับเงินรางวัล 100,000 บาท และสำหรับรางวัลอื่นๆที่ได้รับมาจากการประกวดในเวทีนี้ประกอบไปด้วย 1.รางวัลบรรเลงซออีสานดีเด่น 2.รางวัลบรรเลงโปงลางดีเด่น 3.รางวัลบรรเลงกลองดีเด่น 4.รางวัลบรรเลงแคนดีเด่น 5.รางวัลขับร้อง ลำ ดีเด่น 6.รางวัลแสดงชุดเทิดพระเกียรติ ฯ ดีเด่น
อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี หนึ่งในผู้ควบคุมทีมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วงดนตรีโปงลางที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ทีม และแนวความคิดของชุดการจัดแสดงครั้งนี้เป็นการเป็นการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติฯสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 90 พรรษา โดยมีการร้อยเรื่องนำเอาเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชการที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีได้เสด็จเยือนอีสานเป็นครั้งแรกและสาเหตุที่เลือกเรื่องราวของจังหวัดนครพนมเป็นร้อยเรื่องของการแสดงนั้นเป็นเพราะสาเหตุหลายอย่าง กล่าวคือ ท่านได้ทรงเสด็จและประทับแรมที่จวนผู้ว่าหลังเก่าและเป็นจวนผู้ว่าหลังแรกของจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศษ (ศิลปะโคโลเนียล) รวมถึงการรับอิทธิพลการแต่งการแฟชั่นนิยมจากวัฒนธรรมตะวันตกในยุคนั้น อีกอย่างเมื่อพระองค์ท่านได้ทำภารกิจเสร็จเรียบร้อย ในตอนเย็นได้ทรงเยี่ยมชมงานไหลเรือไฟ จึงได้เป็นแรงบันดาลใจถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงเหตุการทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญและน่าสนใจยิ่งต่อการอนุรักษ์และอีกหนึ่งอย่างลืมไม่ได้และมีส่วนเชื่อมโยงของจังหวัดนครพนมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือ ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำพระธาตุพนมมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย สำหรับผู้แสดงในวงสินไซนั้นมาจากหลากหลายคณะฯ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาดนตรีพื้นเมือง หรือนักศึกษานาฏศิลป์ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมการแสดงจากทุกคณะเข้าร่วมคัดเลือกเพื่อร่วมทีมวงโปงลางสินไซอีกด้วย
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก FB: sor.duhan