คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2565 (FAR8) “The Future of Arts: The Challenges to Artists” ศิลป์ท้า เวลา ท้าศิลป์ ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(จังหวัดขอนแก่น) เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสในนักวิจัยนำเสนอผลงานทางด้านศิลปะสู่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งบทความงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์และการนำเสนอผ่านระบบ Online และ Onsite จำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 บทความ
การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศรวม 37 องค์กร สำหรับเครือข่ายการศึกษาต่างประเทศประกอบไปด้วย SHANGHAI UNIVERSITY , SHAANXI NORMAL UNIVERSITY,
GANNA NORMAL UNIVERSITY , ANHUI NORMAL UNIVERSITY , NORTHWEST MINZU UNIVERSITY
NINGBO POLYTECHNIC , HUTECH UNIVERSITY OF TECHNOLOGY , สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว เป็นต้น ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิประจำกลุ่มนำเสนอต่างๆประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุชาติ เถาทอง อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี , Asst.Prof.Dr. Sebastien Tayac อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรัช สุดสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์อติเทพ แจ๊สนาลาว อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร , ศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ แวงวรรณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฎศิลป์อ่างทอง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ , ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Dr.Lowell Skar อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับกิจกรรมภายในงานเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 9.30 น. ในวันที่ 3 กันยายน 2565โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาต่อประธานในพิธี (รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น) และท่านผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ จากนั้นท่านประธานในพิธีได้กล่าวเปิดงานและแสดงความชื่นชมยินดีในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งนี้ เสร็จสิ้นจากพิธีเปิดได้มีการมอบของที่ระลึกให้กับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่เข้าร่วมงาน
ในเวลา 10.00 น.-12.00 น. ได้มีการบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The Future of Arts: The Challenges to Artists” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุชาติ เถาทอง อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มอภิปรายนำเสนอผลงานประกอบไปด้วย กลุ่มทัศนศิลป์(ระดับชาติ) กลุ่มทัศนศิลป์ (ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาการออกแบบ (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาการออกแบบ(ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาดนตรี (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาดนตรี(ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาการแสดง (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาการแสดง (ระดับนานาชาติ) กลุ่มสาขาวัฒนธรรม (ระดับชาติ) กลุ่มสาขาวัฒนธรรม(ระดับนานาชาติ) และวันที่ 4 กันยายน 2565 มีการบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The Future of Arts: The Challenges to Artists” โดยนายพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปการแสดง ผ่านช่องทาง Zoom meeting และช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลงานต่อเนื่องจากวันแรกของงาน
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย การศึกษาองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภูมิภาค นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางด้านการพัฒนาบัณฑิตตอบสนองสู่ทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์ อันประกอบด้วย ทัศนศิลป์ การออกแบบ ดนตรีและการแสดง และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาติ ตลอดจนเป็นสาขาที่มุ่งเน้นความสุนทรียและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความผ่องแพ้ว การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียน่รู้เผยแพร่ผลงานการวิจัย ผลงานทางวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้งานวิชาการด้านศิลปกรรมมีคุณภาพและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การจัดงานครั้งนี้เพื่อจัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานสร้างสรรค์ ของนักวิจัยนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอผลงานวิจัยที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นช่องทางในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ”